الأربعاء، 31 ديسمبر 2008

การเกิดฝน

การเกิดฝน (ฝน 2)




เขียนโดย อิบรอเฮม หะยีสาอิ
Friday, 01 August 2008
أَلَمْ تَرَ أَنَّ اللَّهَ يُزْجِي سَحَاباً ثُمَّ يُؤَلِّفُ بَيْنَهُ ثُمَّ يَجْعَلُهُ رُكَاماً فَتَرَى الْوَدْقَ يَخْرُجُ مِنْ خِلَالِهِ وَيُنَزِّلُ مِنَ السَّمَاءِ مِن جِبَالٍ فِيهَا مِن بَرَدٍ فَيُصِيبُ بِهِ مَن يَشَاءُ وَيَصْرِفُهُ عَن مَّن يَشَاءُ يَكَادُ سَنَا بَرْقِهِ يَذْهَبُ بِالْأَبْصَارِ
นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้ให้ความหมายของคำในอายัตนี้ ว่า..
يُزْجِي หมายถึง ผลักดันและเคลื่อนที่
رُكَاماً หมายถึง ทับถ่มและรวมตัวกันและกัน
الْوَدْقَ หมายถึง หยดน้ำ และฝน[1]ó
أَلَمْ تَرَ أَنَّ اللَّهَ يُزْجِي سَحَاباً ثُمَّ يُؤَلِّفُ بَيْنَهُ ثُمَّ يَجْعَلُهُ رُكَاماً
ความว่า : เจ้ามิได้เห็นดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงให้เมฆลอย แล้วทรงทำให้ประสานตัวกันแล้วทรงทำให้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนในอายัตนี้ได้พูดถึงขั้นตอนในการเกิดฝน 3 ขั้นตอน จากละอองน้ำเล็กๆที่เราเรียกว่าไอน้ำ ถูกลมพัดพาไป รวมตัวกันเป็นเมฆ และเมฆก็จะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนมหึมาเหมือนภูเขา
فَتَرَى الْوَدْقَ يَخْرُجُ مِنْ خِلَالِهِ
ความว่า : แล้วเจ้าก็จะเห็นฝนโปรยลงมาจากกลุ่มเมฆนั้น
ละอองน้ำในก้อนเมฆก็จะรวมตัวเป็นหยดน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีน้ำหนักเพียงพอที่ตกลงมาด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก กระแสลมที่พัดขึ้นไม่สามารถที่จะต้านทานมันได้ หยดน้ำนี้ก็จะตกลงมาจากก้อนเมฆเป็นน้ำฝน
وَيُنَزِّلُ مِنَ السَّمَاءِ مِن جِبَالٍ فِيهَا مِن بَرَدٍ
ความว่า : และพระองค์ทรงให้มันตกลงมาจากฟากฟ้า มีขนาดเท่าภูเขา ในนั้นมีลูกเห็บ
بَرَدٍ คือ ชิ้นน้ำแข็ง หรือที่เราเรียกว่า ลูกเห็บ และลูกเห็บนี้จะตกลงมาจากก้อนเมฆที่สูงใหญ่เหมือนภูเขา
ลูกเห็บ (Hail) เป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร เกิดขึ้นจากกระแสในอากาศไหลขึ้น (updraft) และไหลลง (downdraft) ภายในเมฆคิวมูโลนิมบัส(เมฆที่ก่อตัวในแนวตั้ง) พัดให้ผลึกน้ำแข็งปะทะกับน้ำเย็นยิ่งยวด กลายเป็นก้อนน้ำแข็งห่อหุ้มกันเป็นชั้นๆ จนมีขนาดใหญ่ และตกลงมา[2]
กระบวนการเกิดฝนและลูกเห็บในเมฆคิวมูโลนิมบัส
فَيُصِيبُ بِهِ مَن يَشَاءُ وَيَصْرِفُهُ عَن مَّن يَشَاءُ
ความว่า : แล้วพระองค์จะทรงให้มันหล่นลงมาโดนผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์จะทรงให้มันผ่านพ้นไปจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์
ฝนหรือลูกเห็บไม่ได้ตกลงมาอย่างไร้เป้าหมาย อัลลอฮฺจะให้มันตกลงบนผู้ใดเพื่อเป็นการลงโทษหรือเพื่อประโยชน์ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ หรือพระองค์ต้องการให้มันห่างไกล ผ่านพ้นจากผู้ใดก็ขึ้นอยู่ความประสงค์ของพระองค์
يَكَادُ سَنَا بَرْقِهِ يَذْهَبُ بِالْأَبْصَارِ
ความว่า : แสงประกายของสายฟ้าแลบเกือบจะเฉี่ยวทำลายสายตาผู้มอง
ทุกครั้งที่มีเมฆก่อนตัวในแนวตั้ง(เมฆคิวมูโลนิมบัส) เป็นเมฆที่จะทำให้ฝนตกหรือมีลูกเห็บที่เหมือนก้อนหินตกลงมาโดยปกติจะมาพร้อมๆกับฟ้าแลบหรือฟ้าผ่าที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูง อาจนำไฟที่สามารถเผาผลานได้ และแสงสว่างจ้าของแสงฟ้าแลบนั้นอาจทำลายสายตาได้
ฟ้าแลบและฟ้าผ่าในนคร seattle
นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายการเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้องและฟ้าผ่าว่า เวลาหยดน้ำฝนหรือลูกเห็บขนาดใหญ่ถูกโลกดึงดูดให้ตกผ่านหยดน้ำขนาดเล็ก หรือเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ การปะทะกันระหว่างอนุภาคขนาดใหญ่ที่กำลังตกกับหยดน้ำขนาดเล็กที่ลอยในอากาศ ทำให้เกิดการเสียดสีจึงมีการถ่ายเทประจุบวกสู่หยดน้ำขนาดเล็กในเมฆ และประจุลบสู่หยดน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจะตกสู่เบื้องล่างของก้อนเมฆ ดังนั้น บริเวณส่วนล่างของเมฆจึงมีประจุไฟฟ้าลบ และส่วนบนของก้อนเมฆมีประจุไฟฟ้าบวก นอกจากนี้ เวลารังสีคอสมิกจากนอกโลกพุ่งกระทบโมเลกุลของไนโตรเจน และออกซิเจนในอากาศ การมีพลังงานสูงมากทำให้โมเลกุลของธาตุทั้งสองแตกตัวเป็นประจุบวกกับประจุลบ ซึ่งจะแยกตัวจากกันสู่ด้านบน และด้านล่างของก้อนเมฆ ดังนั้น เมื่อก้อนเมฆจะมีประจุสะสมมากขึ้นๆ มีผลทำให้ความต่างศักย์ระหว่างประจุลบบนฟ้ากับประจุบวกที่เกิดจากการเหนี่ยวนำบนดินเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดสนามไฟฟ้าที่มีความเข้มสูงจะขับอิเล็กตรอนให้ไหลจากเมฆลงดิน และขณะกระแสอิเล็กตรอนไหลผ่านอากาศ ประจุปริมาณมากจะทำให้อากาศแตกตัวและขยายตัวเกิดแสง และเสียงเป็นฟ้าแลบ และฟ้าร้อง จนคนที่อยู่ภายในรัศมี 30 กิโลเมตรจากบริเวณเกิดเหตุสามารถได้ยินเสียงได้ และเพราะเหตุว่ากระแสไฟฟ้าชอบไหลผ่านสสารที่มีความต้านทานน้อยที่สุด ดังนั้น ฟ้าจะผ่าตรงบริเวณที่มีความต้านทานน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณใกล้เคียง
นักอุตุนิยมวิทยาประมาณว่า ทั่วโลกมีพายุฟ้าคะนองวันละ 44,000 ครั้ง และทุกวินาทีมีฟ้าแลบ 100 ครั้ง
สถิติชี้บอกว่า ทุกปีทั่วโลกมีคนถูกฟ้าผ่าตายนับพัน เฉพาะในสหรัฐอเมริกาทุกปีมีผู้เสียชีวิตเพราะถูกฟ้าผ่าประมาณ 85 คน และประเทศได้รับความเสียหายประมาณปีละ 3,200 ล้านบาท สืบเนื่องจากการที่เสาไฟฟ้าหรือตึกระฟ้าถูกสายฟ้าฟาดสม่ำเสมอ หรือเวลาฟ้าผ่าต้นไม้ในป่าจะเกิดไฟป่า หรือเวลาเสาไฟถูกฟ้าผ่าระบบการขนส่งไฟฟ้าจะถูกทำลายจนกระแสไฟฟ้าดับ ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เวลาถูกฟ้าผ่า ระบบการทำงานของเครื่องก็อาจถูกทำลายจนทำงานไม่ได้[3]

[1] تفسير الطبري ج9 ص337
[2] http://www.lesa.in.th/atmosphere/cloud_precip/cloud_precip/cloud_precip.htm
[3] http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9480000019313

ليست هناك تعليقات:

إرسال تعليق